เงินเฟ้อติดลบลากยาวทำให้เกิดเงินฝืด หรือ deflation แต่วันนี้เรามีเงินฝืดร่วมกับเศรษฐกิจที่ถดถอย จึงเปลี่ยนจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Stagnation ลามเข้าสู่ Recession เพราะไม่ใช่เพียงราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ แต่ราคาสินค้าอื่นๆ ที่สะท้อนกำลังซื้อของคนก็ลดลงตามทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมพลังงานและอาหารสด)แทบไม่ขยายตัว ที่จริงราคาสินค้าเกษตรขึ้นมานานแล้วจากปัญหาภัยแล้งที่ผลผลิตออกมาน้อย แต่รายได้ภาคเกษตรหดตัว กำลังซื้อเลยต่ำ อีกทั้งการเลิกจ้างในกลุ่มนอกภาคเกษตรมีผลให้กำลังซื้อโดยรวมอ่อนแอ มองไปข้างหน้า มีสองประเด็นต้องจับตามอง ประเด็นแรก เงินเฟ้อใกล้ถึงจุดต่ำสุดตามราคาพลังงาน ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ เราอาจต้องเทียบพัฒนาการเงินเฟ้อเทียบเดือนก่อนหน้ามากกว่าเทียบปีก่อนหน้า คือแม้เงินเฟ้อติดลบถึง - 3.44%เทียบพ.ค.62 ซึ่งถือว่าลงลึกมาก แต่เงินเฟ้อกลับแทบไม่เปลี่ยนแปลง (+0.01%) เทียบเดือนก่อน นั่นหมายความว่าเงินเฟ้อน่าจะลดการติดลบลง และหากดูปัจจัยสนับสนุนก็มาจากราคาพลังงานที่ฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งราคาพลังงานเป็นส่วนสำคัญไม่เพียงแต่ในสัดส่วนเงินเฟ้อ แต่มีผลทางอ้อมต่อค่าขนส่งและราคาวัตถุดิบในสินค้าอื่นๆ ด้วย ประเด็นที่สอง มาตรการรัฐลดค่าครองชีพช่วยลดเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำส่วนหนึ่งมาจากค่าไฟฟ้าที่ลดลง ซึ่งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ขยายตัว 0.01%เทียบปีก่อน หรือหดตัว 0.3% จากเดือนก่อนหน้า อาจไม่เพียงสะท้อนกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอจาก คนขาดกำลังซื้อ ราคาสินค้าจึงขึ้นไม่ได้เพียงอย่างเดียว แต่มีบางกลุ่มที่อาจปรับตัวลดลงตามมาตรการรัฐชั่วคราว เช่น ค่าไฟฟ้า ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเป็นเช่นไร หลังสิ้นสุดมาตรการประคองค่าครองชีพสิ้นสุดลง ซึ่งน่าจะขยับขึ้นมาได้บ้าง ที่ผมห่วงในช่วงครึ่งปีหลัง หลังมาตรการลดค่าครองชีพสิ้นสุดและราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้นแล้ว คือเงินเฟ้อจะเริ่มขยับขึ้นแต่รายได้คนยังหาย ซึ่งเชื่อว่ารายได้หรือ GDP คงหดตัวลากยาวในปีนี้ และหากราคาน้ำมันหรือสินค้าขึ้น ฐานะความเป็นอยู่ของคนจะยิ่งลำบากกว่านี้ก็ได้ครับ
ตกลงเงินฝืดหรือไม่ฝืด... ตามนิยามคงตอบว่ายังแต่ก็เกือบจนจะล้ำเส้นละครับ แต่ผมว่าพูดให้ชัดว่าฝืดไปเลยดีกว่า เงินเฟ้อติดลบมานาน ไม่เพียงราคาน้ำมันแต่กำลังลามมาสินค้าอื่น อุปสงค์ก็อ่อนแอ ในอดีตเราแทบไม่นิยามเงินฝืดกันเลย แม้ช่วงปี 2008-2009 ที่เงินเฟ้อติดลบ แต่เศรษฐกิจลงลึกสุดในช่วงไตรมาสสองปี 2009 ก่อนฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จะมองฝืดหรือไม่ วันนี้ต้องถามก่อนว่านอกจากราคาสินค้าที่ลงแล้ว ราคาสินทรัพย์อื่นๆ เช่น บ้าน รถยนต์ ก็ลดลงด้วย มีเพียงหุ้นที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วหลังดิ่งลงในช่วงเดือนมีนาคม ด้านการว่างงานก็เพิ่มขึ้นมาก รายได้คนก็ลดลง จริงๆ เราน่าจะถามว่าเศรษฐกิจไทยที่แบ่งเป็นสองด้าน ที่ด้านหนึ่งทรุดหนัก อีกด้านฟื้นอย่างรวดเร็ว ด้านหนึ่งเรียกเงินฝืด เพราะอีกด้านคงไม่ใช่
มองต่อไป แล้วนโยบายการเงินจะรับมือเช่นไร ผมมองว่าต่อให้เงินฝืดจริง ก็ไม่ได้แปลว่าทางธปท.จะทำอะไรเพิ่มเติม แม้ใช้นโยบายการเงินโดยอิงกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย แต่ก็มีความยืดหยุ่นมาก ต่อให้ตกกรอบล่างนานๆ ก็อธิบายได้ว่าทำไมจะไม่ลดดอกเบี้ยอีก หรือต่อให้ไม่หลุดกรอบแต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่เขาสนใจก็ลดดอกเบี้ยได้ อันนี้จะเป็นปัญหาในการอธิบายสื่อสารให้คนเข้าใจทิศทางนโยบายการเงินในอนาคตครับ แต่ไม่ใช่ว่าเขาผิดนะครับ เพียงแต่ตลาดการเงินมันซับซ้อนมาก วันนี้อยากให้นักเศรษฐศาสตร์เอาคนเป็นตัวตั้งมากกว่าดัชนี เพราะต่อให้เราเถียงกันว่าดัชนีอัตราเงินเฟ้อบอกว่าเราเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ แต่คนไทยวันนี้รายได้ฝืดเคือง เงินไม่มีใช้ ของที่ผลิตออกมาขายไม่ได้จนต้องลดราคาลง อย่างน้อยเก็บเงินสดไว้ก่อน เงินจึงมีค่ามาก... ใครไม่มีเงินจะรู้ดีครับ
view more