Q1: โดนหัวหน้างานกลั่นแกล้ง ต้องทำอย่างไรตามคำสอนทางพุทธศาสนาหรือมีปัจจัยอะไรเร่งให้กรรมทำงานเร็วขึ้น
การไม่ทำความชั่วตามคำชักชวนใด ๆ ถือว่าเป็นการทำความดีของเราแล้ว บางครั้งความดี ความเพียร และความตั้งใจมั่นอาจจะทำได้ยาก เพราะอาจทำให้เกิดเป็นความคับแค้น ความเร่าร้อน หรือผัสสะที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้นในระหว่างที่ตั้งใจทำความดีนั้น ๆ ให้ระลึกถึงคุณความดีของตนเอง ซึ่งถือเป็น สีลานุสสติ
สิ่งที่ควรทำความเข้าใจมากกว่าการเร่งให้กรรมทำงานเร็วขึ้น นั่นคือ ต้องทำอย่างไรจึงจะรักษาความดีของเราให้มีตลอดได้ พละ 5 (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา) จึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญใช้หุ้มห่อจิตใจของเราให้สามารถรักษาความดีได้อย่างเต็มที่ไปตลอดรอดฝั่ง ทำให้จิตใจของเราไม่คิดเบียดเบียน ไม่พอใจ หรือไม่คิดทำร้ายผู้อื่นด้วย
ความยุติธรรมไม่มีในสังสารวัฏนี้ หากต้องการให้สุดจบจริง ๆ มีที่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น การให้ผลของกรรมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่ได้สร้างมาตั้งแต่อดีตชาติจนกระทั่งถึงปัจจุบันชาติที่มากน้อยไม่เท่ากัน ระยะเวลาการให้ผลของกรรมจึงแตกต่างกัน คือ ให้ผลในปัจจุบัน ให้ผลในเวลาถัดมา และให้ผลในเวลาถัด ๆ มาอีก ซึ่งผลกรรมอาจจะเกิดกับตนเอง กับลูก หรือกับผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วยก็ได้
Q2: สาวกทั้ง 80 รูป มีบ้างหรือไม่ที่บวช ๆ สึก ๆ หลายครั้งแล้วได้บรรลุธรรม ผู้ถามเคยถามหลวงน้าท่านหนึ่งซึ่งมรณภาพไปหลายสิบปีแล้ว ท่านอธิบาย "ชายสามโบสถ์" ว่าคือ ผู้ชายที่นับถือหลาย ๆ ศาสนาในเวลาเดียวกัน จึงได้ถามมาเพื่อขอความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร
ในครั้งพุทธกาลก็เคยมีท่านจิตตหัตถสารีบุตร ที่เคยบวชและสึกถึง 7 รอบด้วยสาเหตุของการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพและคุณของเนกขัมมะในเวลาเดียวกัน หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าเอง เมื่อครั้งที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็เคยเป็นอย่างนี้
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: เข้าใจทำ (ธรรม) S07E54 , #พระจิตตหัตถเถระ ผู้เปลี่ยนแปลงได้
ส่วนคำว่า "ชายสามโบสถ์" เป็นเรื่องของการใช้ภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปได้ ขึ้นอยู่กับว่า ต้องการนำไปใช้ในบริบทใด ๆ ทั้งนี้จากการสืบค้นพบว่า ชายสามโบสถ์มีความหมาย 2 นัยยะคือ ชายที่บวชในศาสนาพุทธตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือชายที่บวชในศาสนาที่ต่างกันตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป
Q3: เมื่อพระกล่าวคำสมาทานศีล 5 เสร็จ แล้วสรุปลงท้ายว่า "จะไปสุคติได้ด้วยเพราะศีล" สุคตินั้นหมายรวมถึงโลกมนุษย์ด้วยหรือไม่ เพราะโลกมนุษย์นั้นประกอบด้วยทุกข์ สุข และไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งที่เป็นที่ดีที่งามนั้น เป็นที่ ๆ มีลักษณะอย่างไร
ต้องเข้าใจถึงสัดส่วนของสุขและทุกข์ในโลกมนุษย์ที่มีพอ ๆ กัน ส่วนนรกจะมีความทุกข์อย่างมากแต่สุขน้อยนิดเดียว ในขณะที่สวรรค์จะมีความสุขเหลือล้นแต่ทุกข์น้อยนิดเดียว ดังนั้นเมื่อพูดถึงสุคติจะประกอบไปด้วยมนุษย์ (พราหมณ์มหาศาล กษํตริย์มหาศาล และคหบดีมหาศาล) เทวดา พรหม แต่ถ้าพูดถึงทุคติจะประกอบไปด้วยมนุษย์ เปรต อสูรกาย
ทุกที่ในสังสารวัฏนี้ต่างประกอบไปด้วยทุกข์ สุข และไม่ทุกข์ไม่สุข สัดส่วนอาจจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ความดีในการเกิดเป็นมนุษย์ ก็คือ ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า สามารถเห็นสุขและทุกข์ได้มากพอ ๆ กัน เมื่อเห็นสุขแล้วไม่กำหนัดยินดี เมื่อเห็นทุกข์แล้วเกิดปัญญาได้
Q4: พระปริตรที่ควรนำมาสาธยายหรือสวดมนต์ในพิธีงานมงคลสมรส นั่นคือ "องคุลีมาลปริตร" หรือ "องคุลีมาลสูตร" จึงขอความกรุณาแปลพระสูตรนี้เป็นไทยให้ด้วย เพราะผู้ถามไม่ได้ฟังมานานแล้ว
"องคุลีมาลปริตร" มาที่เนิ้อความจำเดิมตั้งแต่ที่พระองคุลิมาลมาบวชแล้ว วันหนึ่งพระองคุลีมาลได้พบหญิงมีครรภ์และได้อุทานว่า "สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงตรัสให้องคุลีมาลตั้งอธิษฐานสัจจะวาจาและไปโปรดหญิงมีครรภ์นั้นว่า
ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ
(ดูก่อน ‘น้องหญิง ตั้งแต่อาตมภาพเกิดมาในอริยชาติ ไม่เคยตั้งใจหรือเจตนาจะพรากสัตว์ใด ๆ จากชีวิตเลย ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสวัสดี จงมีแก่ทารกในครรภ์ของเธอเถิด)
เป็นบทสวดอย่างย่อที่จะสวดพร้อมกับบทสวด "โพชฌังคปริตร" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครอบครัวที่เพิ่งแต่งงานกันเมื่อมีบุตร จะทำให้คลอดบุตรง่าย
Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.
Create your
podcast in
minutes
It is Free