ปฏิบัติบูชาด้วยการตั้งไว้ในอริยสัจสี่ (6230-7q)
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ถ้าเราเอ็นดูใครหรือถ้าใครที่เขาจะเชื่อฟังเรา จะเป็นญาติก็ตาม มิตรสหายก็ตาม ให้แนะนำ ชักชวนให้เขามาตั้งไว้ในอริยสัจสี่"
Q1: ในเรื่องการเผยแผ่ธรรมะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ควรวางตัวอย่างไร? เพื่อจะไม่ให้คนอื่นเขามองเป็นเรื่องแปลก เพราะการใช้ชีวิตยังต้องเกี่ยวข้องด้วยเรือน และกับเพื่อนบ้านเขาเห็นเป็นเรื่องสนุกตลกที่ผู้ถามฟังธรรมะ โพสต์ธรรมะ ยกหัวข้อธรรมก็เพื่อจะให้คนที่เขาได้อ่านแล้วสะดุดใจ อยากลองฟัง จิตจะได้เกิดสติ สมาธิ เพิ่มปัญญายิ่ง ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ เพราะเรื่องธรรมะหาคนปรึกษาพูดคุยได้ยาก
การแชร์โพสต์ธรรมะก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่ควรจะชักชวนกัน ดีกว่าการชักชวนกันไปกินไปเที่ยวไปดื่มไปเล่น ปรารภเรื่องของกาม ปรารภเรื่องความเพลิดเพลินสนุกสนาน
และ 1 ในความน่าอัศจรรย์ 3 อย่างที่ว่า "โลกนี้ที่ยังชุ่มอยู่ด้วยกาม เมื่อมีบุคคลปรารภเรื่องที่หลีกออกจากกาม ยังมีคนฟัง" ดังนั้นให้สบายใจได้เลยว่ามันเป็นเรื่องแปลกที่พอพูดถึงเรื่องธรรมะหรือแชร์โพสต์ธรรมะแล้วจะเป็นเรื่องแปลก มันเป็นธรรมดา
Q2: มีคำพูดต่าง ๆ ในทางโลกว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญ ทางธรรมก็มีธรรมะเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งทางโลกทางธรรมก็ต้องผลัดกันช่วยเหลือกัน ซึ่งก็จะมีบางคนพูดว่า “ไม่ต้องให้เงินพระหรอก” การพูดแบบนี้เรียกว่ามีมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ และมีผลของกรรมเป็นอย่างไร
เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องใดหรือหนึ่งมาก็ต้องมาพิจารณาใคร่ครวญดู ว่าผู้กล่าวเป็น วิญญูชน คือ ผู้ที่มีความรู้ดีใฝ่ดี ไม่มีราคะ โทสะ และโมหะ หรือไม่? ในที่นี้จึงควรฟังและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านสอนไว้ในเรื่องของการแบ่งจ่ายทรัพย์ ที่ต้องใช้จ่ายไปใน 4 หน้าที่ให้ถูกต้องเหมาะสม
การแบ่งจ่ายทรัพย์ในหน้าที่ข้อที่ 4 คือ สมณพราหมณ์ คือ ผู้ออกจากเรือนบวชแล้ว เป็นเนื้อนาบุญ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ควรจะอุทิศให้ท่าน ซึ่งคำว่า "อุทิศ" นี้ จึงเป็นรูปแบบที่ต้องทำให้มีความเหมาะสมในสมณเพศนั้น ๆ ซึ่งสมณะนั้นไม่ยินดีด้วยทองและเงิน ยินดีในปัจจัย 4 ที่เขานำมาถวายหรืออุทิศได้ ดังนั้นคำว่า “ไม่ต้องให้เงินพระหรอก” ก็ควรจะทำปัจจัย 4 ที่มีความเหมาะสมให้กับสมณพราหมณ์เหล่านั้น เพื่อให้หน้าที่ที่ 4 ของเรามีความถูกต้อง เพราะเราหวังบุญในการที่จะให้ชีวิตของเรานั้นเป็น ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมย่อมเป็นสุขทั้งในปัจจุบันและต่อ ๆ ไปในภายหน้า
Q3: การถามปัญหาธรรมะกับหลาย ๆ วัด หรือกับพระหลาย ๆ รูป ดีหรือไม่? เพราะมีคนพูดว่า “ใช้วัดเปลือง”
การเข้าใกล้หรือไปสอบถามกับสมณะว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลฯ อันนี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ว่าเราเข้าไปหาใคร สอบถามได้คำตอบมาอย่างไร แล้วนำมาพิจารณาใคร่ครวญสอบทานให้ตรงตามแม่บทคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยการที่เรานำมาปฏิบัติให้เข้าถึงใจ แล้วก็ปฎิบัติออกมาทางกาย วาจา และใจได้ ซึ่งจะดูได้จากการกระทำที่มีศีล สมาธิ ปัญญาของคน ๆ นั้น ก็คือ ให้ดูที่ตัวเราเอง นั่นเอง
ได้ยกตัวอย่าง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่เคยทูลถามปัญหาต่อพระพุทธเจ้าสักครั้ง แม้ว่าจะไปเข้าเฝ้าวันละ 2 ครั้งเป็นประจำ ด้วยเหตุว่ากลัวพระพุทธเจ้าจะทรงลำบาก จึงไม่ทูลถามปัญหา
พระองค์จึงตรัสว่า “เศรษฐีผู้นี้รักษาเราในที่ไม่ควรรักษา, เหตุว่า เราได้ตัดศีรษะของเราอันประดับประดาแล้ว ควักดวงตาของเราออกแล้ว ชำแหละเนื้อหัวใจของเราแล้ว สละลูกเมียผู้เป็นที่รักเสมอด้วยชีวิตของเราแล้ว บำเพ็ญบารมีอยู่ 4 อสงไขยกับแสนกัป ก็บำเพ็ญแล้วเพื่อแสดงธรรมแก่ผู้อื่นเท่านั้น เศรษฐีนี่รักษาเราในที่ไม่ควรรักษา”
ดังนั้นถ้ามีโอกาสสอบถามได้ ก็ให้สอบถามได้เลยอย่าไปคิดว่าใช้เปลื้อง เพราะถ้าคิดอย่างนี้จะเป็นการรักษากันในฐานะที่ไม่ควรรักษา ทั้งนี้ให้สอบถามในเวลาหรือสถานที่ที่เหมาะสมตามระเบียบข้อปฏิบัติ
Q4: คำถามในเรื่อง "นอนไม่ค่อยหลับ" โดยเฉพาะวันพระ 8 ค่ำหรือ 15 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม
การนอนไม่หลับ แบ่งได้เป็น การตื่นอยู่เสมอ กับ การที่เป็นโรคนอนไม่หลับ ซึ่งการที่เป็นโรคนอนไม่หลับจะเป็นลักษณะที่ต้องการนอนพักผ่อน แต่นอนไม่หลับ หรือนอนได้แล้วแต่พอตื่นขึ้นมาก็เหนื่อยเพลียเหมือนนอนไม่พออยู่ตลอด จะแตกต่างจากการ "การตื่นอยู่เสมอ" คือ การประกอบตนอยู่ในธรรมอันเป็นเครื่องตื่น (ชาคริยานุโยค) เป็นผู้ที่มีจิตใจที่สว่างอยู่ตลอดอันเกิดจากสมาธิ เพราะเมื่อรู้สึกตัวตื่นจะไม่ง่วงไม่เพลีย แต่สดชื่นแจ่มใสอยู่ตลอด เพราะว่าร่างกายได้รับการพักผ่อนอยู่ในสมาธิ คือการนอนอย่างตถาคตไสยา (การนอนอยู่ในสมาธิ) ซึ่งลักษณะร่างกายจะอยู่ในอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ด้วยการมีสติอยู่ตลอด
พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสสอนเรื่องการนอนว่า "เมื่อเรานอนอยู่อย่างนี้ ให้น้อมจิตไปเพื่อการหลับ เมื่อหลับแล้วก็ตั้งจิตไว้ว่าจะไม่คิดไปในเรื่องทางกาม พยาบาท และเบียดเบียน รู้สึกตัวแล้วเมื่อไรให้ลุกขึ้นทันที การตั้งจิตอยู่แบบนี้จะการประกอบตนอยู่ในธรรมอันเป็นเครื่องตื่นได้"
Q5: คำถามในเรื่องของ "การปฏิบัติตนอย่างไรในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีธรรมอยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น การกิน การเดิน การนอน การออกกำลังกาย และการปฏิบัติตนในด้านอื่น ๆ เป็นต้น"
คำตอบสั้น ๆ ในที่นี้ คือ ให้มีสติอยู่ตลอดในทุกอิริยาบถ ทุกเวลา และทุกสถานที่ เพราะสติมันอยู่ที่ใจ จะอยู่ในอิริยาบถใดหรือที่ไหน นั่นไม่เป็นปัญหา
ส่วนคำตอบที่ลงไปรายละเอียดว่าจะต้องมีสติอย่างไร เช่น มีสติในการกิน ก็คือ ความรู้ประมาณในการบริโภค (โภชเน มัตตัญญฺตา), การเดินจงกม ตั้งจิตไว้ในการเดินกลับไปกลับมา เดินอย่างมีสติ มีใจไม่คิดไปในภายนอก สำรวมอินทรีย์, การนอน ก็อย่างตถาคตไสยา, ออกกำลังกาย เดินวิ่งก็เหมือนกัน, การพูด ก็อย่าพูดไปในทางมิจฉาวาจาแต่ให้เป็นไปในทางสัมมาวาจา เป็นต้น ซึ่งการกระทำเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรักษาประพฤติปฏิบัติ
Q6: การเขียนชื่อและฉายาของพระอาจารย์มหาไพบูลย์ฯ อย่างไรจึงถูกต้อง และมีความหมายอย่างไร
เขียนว่า "พระมหาไพบูลย์ อภิปุณฺโณ" ซึ่ง "ไพบูลย์" มีความหมายว่า เต็มเปี่ยม และ "อภิปุณฺโณ" แปลว่า ผู้มีบุญอันยิ่ง
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ตามใจท่าน Ep.9 ใต้ร่มโพธิบท Ep.44
Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.
Create your
podcast in
minutes
It is Free