หลบมุมอ่าน EP. 81: ฮาลา-บาลา “มรดกอาเซียนข้ามแดน”
ผืนป่าฮาลา-บาลา หรือ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา” ได้รับการขนานนามว่า “แอมะซอนแห่งอาเซียน” เพราะเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง มีลักษณะเป็นป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain Forest) มีแนวเขตต่อเนื่องกับป่าเบอลม หรือป่าเบลุ่ม (Royal Belum State Park) รัฐเปรัค ตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย เมื่อรวมพื้นที่ป่าเข้าด้วยกัน จัดได้ว่าเป็น “ป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดบนคาบสมุทรมลายู” และเป็น 1 ใน 3 ของป่าฝนเขตร้อนที่มีอยู่บนโลก ได้แก่ ป่าฝนเขตร้อนแถบทวีปอเมริกา ป่าฝนเขตร้อนแถบทวีปแอฟริกา และป่าฝนเขตร้อนแถบทวีปเอเชีย
ด้วยความยิ่งใหญ่ของผืนป่าฮาลา-บาลา และกลุ่มผืนป่าต่อเนื่องแง่หนึ่งได้สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ มากมายให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งผืนป่าแห่งนี้กลับถูกบุกรุกทำลายลงไปเรื่อย ๆ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ การแย่งชิงทรัพยากร คนบางกลุ่มบางพวกมุ่งแผ้วถางป่าเพื่อครอบครองที่ดิน ฯลฯ ดังปรากฏเป็นข่าวทั้งในสื่อกระแสหลักและผ่านสังคมออนไลน์ (Social Media) อยู่เป็นระยะ
นอกจากนี้ การที่ผืนป่าฮาลา-บาลา (Hala-Bala Wildlife) เป็นป่าผืนเดียวกันกับป่าเบลุ่มหรือป่าเบอลม ฝั่งรัฐเปรัค มาเลเซีย ซึ่งทางรัฐบาลมาเลเซียได้ดำเนินการเสนอให้ “อุทยานแห่งรัฐรอยัลเบอลม” (Royal Belum State Park) เป็นมรดกโลก โดยได้ขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative) เมื่อปี 2560 (ค.ศ.2019) หากฝั่งประเทศไทยยังเพิกเฉยไม่เคลื่อนไหวประการใด อาจส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย แทนที่จะเร่งแสวงหาแนวทางร่วมอนุรักษ์ผืนป่ารอยต่อสำคัญไปด้วยกัน เพื่อให้เป็น “มรดกอาเซียนข้ามแดน” และเป็น “มรดกโลก” ร่วมกัน
การเกิดขึ้นของหนังสือ “ป่าฮาลา-บาลา สู่มรดก” (HALA – BALA Wildlife to World Heritage) เป็นเพียงการจุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องได้กลับมาทบทวนแนวทางการดูแลรักษาผืนป่าแห่งนี้ให้คงอยู่สืบไป ไม่ว่าจะด้วยการผลักดันให้เป็นมรดกอาเซียนข้ามแดนหรือมรดกโลก หรือเป็นไปด้วยวิธีการอื่นใดก็ตามที่เห็นว่าเหมาะสม (จากคำนำหนังสือ “ฮาลา-บาลา สู่มรดกโลก”)
Create your
podcast in
minutes
It is Free