Q : อายุขัยของคนเราถูกกำหนดมาแล้วด้วยกรรม ใช่หรือไม่?
A : เมื่อเราได้ยินสิ่งใดมาแล้วให้จดจำแล้วนำมาเทียบเคียงกับคำสอนของท่านว่าลงรับกันได้หรือไม่ กรณีของพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าจะดำรงอายุขัยให้ได้ 1 กัป ท่านก็ทำได้ แต่ท่านกำหนดอายุไขไว้ที่ 80 ปี แสดงว่าไม่ได้เป็นเรื่องของกรรมกำหนดโดยส่วนเดียว ว่าคนจะมีอายุไขเท่านั้น เท่านี้ หากแต่มีปัจจัยอื่นมาประกอบด้วย ในกรณีของท่าน ท่านมีเหตุคือโรคภัยไข้เจ็บ จากการบำเพ็ญทุกกรกิริยา แม้หากพระอานนท์จะนิมนต์ท่านไว้ สุขภาพท่านก็จะไม่เหมือนเดิมคืออยู่แบบคนป่วย หรืออาจจะเกิดจากการบริโภคและการดูแลตนเอง การเตรียมตัวไม่สม่ำเสมอ หรืออาจเกิดจากกรรมตัดรอน คบคนไม่ดีแล้วทำให้ได้ผลไม่ดีกับเรา โดยลักษณะการให้ผลของบุญและบาป มันต่างวาระ ต่างโอกาส ถ้าบาปมันให้ผลอยู่ บุญก็ยังให้ผลไม่ได้ เราจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่เผลอ ไม่เพลิน ให้มีสัมมาทิฐิว่าบุญมี บาป มี หมั่นสร้างบุญสร้างกุศล ดูแลสุขภาพตนเองไว้
Q: อายุวัฒนกุมาร | กรณีตัวอย่างของการสร้างเหตุยืดอายุขัย
A: เป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่ง ชื่อว่า อายุวัฒนกุมาร โดยมีพราหมณ์ทำนายไว้ว่า เด็กคนนี้จะตายภายใน 7 วัน หลังจากวันที่เกิด บิดาจึงไปหาพระพุทธเจ้า แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน พระพุทธเจ้าท่านเสด็จมาในวันที่ 7 พอท่านเสด็จมา เทวดาผู้ใหญ่ก็เสด็จมา เทวดาที่เป็นยักษ์ ที่จะมากินเด็ก ก็มาไม่ได้โอกาส จนช่วง 7 วันนั้นสิ้นสุดลงและเด็กคนนั้น ได้มีอายุยืนยาวถึง 120 ปี คนที่มีอายุยืนมักจะเป็นคนที่มีบุญมาก ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความโดยส่วนเดียวว่า คนที่อายุสั้นจะมีบุญน้อย เพราะลักษณะการให้ผลของบุญและบาปนั้น มันต่างวาระ ต่างโอกาสกัน เราจึงควรหมั่นสร้างบุญ สร้างกุศลและตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
Q : คนที่เสียชีวิตกะทันหัน ดวงวิญญาณจะล่องลอยอยู่ ต้องมีตัวตายตัวแทน จึงจะไปเกิดได้
A : คนที่ตายไปแล้ว จังหวะที่เขาเกิดใหม่ เรียกว่า “สัมภเวสี” แปลว่า ผู้แสวงหาที่เกิด ซึ่งจริง ๆ แล้ว เขาได้เกิดใหม่แล้ว คือ เหมือนว่าเขาหลับแล้วฝัน แล้วตื่นขึ้นมา คิดว่าตัวเองเป็นอะไร เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร รู้ว่าตัวเองตายแล้ว หากเขาละวางได้แล้ว เขาก็จะไปตามกรรม ซึ่ง คนที่ตายไปแล้ว แล้วเขายังอยู่ตรงนั้น คือ เขาไม่รู้ว่าตัวเองตายไปแล้ว ก็จะต้องบอกให้เขาทราบ ว่าเขาตายไปแล้ว คือ จัดงานศพให้เขา ซึ่ง หากเขาติดตรงไหนมาก ก็มักจะไปตรงนั้น เช่น ติดบ้านก็จะอยู่บ้าน ติดรถก็จะอยู่รถ หากเขาละวางสภาวะที่ยึดถือนั้นได้ เขาก็ย่อมไปตามกรรม
Q : จริงหรือไม่ ที่ว่าดวงจิตของผู้ตายจะสามารถรับผลบุญได้เต็มที่ หลังจากเสียชีวิตภายใน 5 วัน ให้รีบทำบุญ ถ้าหลังจากนั้นจะเขาอยู่สภาวะที่ไม่สามารถรับบุญได้
A : การทำบุญให้กับพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น เป็นหน้าที่ของลูกหลานอยู่แล้ว เพื่อเป็นการสื่อสารให้ผู้เสียชีวิตได้ทราบว่า ตนได้เสียชีวิตแล้ว หากรีบทำก่อนจะดี
Q : ชาตินี้มีความทุกข์มาก จะผ่อนกรรมได้อย่างไร?
A : มนุษย์เป็นภพที่สุขกับทุกข์พอ ๆ กัน มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่วกันทุกคน ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ก็จะให้ผลต่างกรรม ต่างวาระกัน ท่านสอนไว้ว่า “ทำกรรมอย่างไร จะได้รับวิบาก(ผล)ของกรรมอย่างนั้น” หากเราเข้าใจว่าสุข ทุกข์ มันก็เป็นธรรมดา แล้วหมั่นสร้างความดี เราก็จะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสบายใจ
Q : เรื่องของสุข ทุกข์ที่ไม่อยู่กับเราตลอด แล้วระหว่างที่เราอยู่ เราต้องทำอะไร?
A : สุข ทุกข์ เป็นเรื่องธรรมดา เราจะอยู่กับทุกข์ เห็นธรรมดาในทุกข์ได้นั้น จิตเราต้องประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 มีพรหมวิหาร 4 เป็นวิหารธรรม จึงจะอยู่กับทุกข์ได้ เราจะอยู่กับสุข เห็นธรรมดาในสุขนั้นได้ เราต้องเห็นว่าสุขนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพื่อไม่ให้จิตเรายึดติด ลุ่มหลงในสุขนั้น เมื่อเราเข้าใจ เห็นสุขและทุกข์เป็นธรรมดา ไม่ขยะแขยงเกลียดชังในทุกข์ ไม่ลุ่มหลงพอใจในสุข เราก็จะสามารถทำความดีต่อไปได้ อยู่ในโลกได้อย่างเข้าใจและผาสุก
Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.
Create your
podcast in
minutes
It is Free