ถ้าเรายังไปปรุงแต่งจิตให้วิเศษแค่ไหน มันก็ยังเป็นของเก๊อยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะภาวนา อย่ามัวแต่นั่งปรุงแต่งจิต ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไป มันก็จะอยู่ในหลักของคำว่ารู้ทุกข์ ละสมุทัย สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 คือรูปนาม คือกายคือใจของเรานี้ล่ะ เราต้องรู้มัน ไม่ใช่ทิ้งมัน แล้วไปอยู่ในความว่าง เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือ ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 9 มีนาคม 2567
view more