ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์สอนให้ดูกายก่อน เพราะมันดูง่าย มันเป็นของหยาบ ร่างกายไม่เคยหนีไปไหนเลย มีแต่จิตเราหนีไปจากร่างกาย พอเรารู้ความจริงของร่างกาย มันเป็นของไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มันบังคับควบคุมอะไรไม่ได้ มันเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง พอใจมันเห็นความจริง ใจมันก็จะหมดความยึดถือในร่างกาย ในส่วนนามธรรมเราก็ดูไป ค่อยๆ แยกสภาวธรรม ให้มันละเอียดขึ้น เราจะเห็นว่าจิตนั้นก็เป็นสภาวะอันหนึ่ง ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่สุขไม่ทุกข์โดยตัวของมันเอง มันดีมันชั่ว มันสุขมันทุกข์ เพราะมีธรรมะอย่างอื่น มีขันธ์อย่างอื่น นามขันธ์อันอื่นที่ไม่ใช่จิตเข้ามาปรุงแต่ง ความสุขมาปรุงแต่งขึ้นมา มันก็เป็นเราสุข ความทุกข์ปรุงแต่งก็เป็นเราทุกข์ ความดีปรุงแต่งก็เป็นเราดี ความโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมา เราโลภ เราโกรธ เราหลง กลายเป็นเราทุกทีไป ถ้าหัดแยกได้ เราก็จะเห็นเวลาความสุขเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าจิตก็เป็นอันหนึ่ง ความสุขก็เป็นอันหนึ่ง ความสุขกับจิตเป็นสภาวธรรมคนละชนิดกัน เกิดด้วยกัน แต่ว่ามันเป็นคนละอย่างกัน ความสุขทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ จิตที่ไปรู้ความสุขเข้า ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้เหมือนกัน หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ไป แล้วต่อไปพอจิตใจเราประณีตมากขึ้น เราจะเห็นว่ากระทั่งตัวจิตเองก็เกิดดับ จิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็คือไม่ว่าจะเห็นจิตผู้รู้เป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา สุดท้ายก็คือปล่อยวางจิต ปล่อยวางจิตได้ก็ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้ ปล่อยวางขันธ์ทั้งหมดได้ ก็ปล่อยโลกทั้งหมดได้ ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลกอีกแล้ว จิตก็พ้นจากความทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 31 มีนาคม 2567
view more