ตัวผู้รู้เราก็ไม่รักษา แต่มันต้องพัฒนาให้มีขึ้นมาเพื่อใช้งาน เราก็จะเห็นว่าตัวผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อย่างจิตเราโกรธ พอเรารู้ว่าโกรธ จิตโกรธดับ จิตผู้รู้เกิด มีอารมณ์มากระทบทางหู มีเสียงเพลงเพราะๆ จิตเกิดราคะขึ้น สติระลึกรู้ จิตที่มีราคะก็ดับ จิตที่รู้ก็เกิด จิตรู้มันจะคั่นจิตที่หลง นานาชนิด มันจะมีตัวรู้แทรกๆๆๆ เข้ามา แล้วมันก็จะทำให้เราเห็นว่า จิตมีราคะอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตสุข จิตทุกข์ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เราจะเห็นอย่างนี้ แล้วเราก็เห็นลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง จิตผู้รู้เองก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็หลงไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ เห็นมันเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 พอมันกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 แล้ว มันก็จะเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้นมา ค่อยๆ มีสติตามรู้จิตของตัวเองไปเรื่อยๆ ทีแรกเราก็สามารถแยกจิตกับเจตสิกออก เราก็เห็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว ล้วนแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น พอสติเราเข้มแข็ง เราก็เห็นจิตผู้รู้ก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้อยู่เฉยๆ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ที่มีความสุข ผู้รู้มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีเวทนา เกิดร่วมกับจิตผู้รู้ 2 ชนิด คือ โสมนัสเวทนา คือความสุข กับอุเบกขา เพราะฉะนั้นบางทีเราฝึกมา จิตเราเป็นผู้รู้ บางทีเป็นผู้รู้เฉยๆ มีอุเบกขา บางทีก็มีความสุขแทรกขึ้นมาพร้อมๆ กัน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 27 เมษายน 2567
view more