“สติ” เบื้องต้นหัดระลึกถึงความเป็นทีละขณะ กับจำลักษณะ ในอารมณ์ปัจจุบันให้ชำนาญ ตัวรู้สึกตัวจะเริ่มกลายเป็นตัวสติขึ้นมา ...จากสติไปเป็นสมาธิ แล้วสุดท้ายเป็นปัญญา
โดยพัฒนาภาวะความรู้สึกตัวให้มันจำทีละขณะ กับจำลักษณะ อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน
การฝึกพัฒนานี้มี 2 อย่าง
1 เป็นสติโดยธรรมชาติ ที่มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่เติบโต และไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร
2 เป็นพัฒนาการจากการทำขึ้น เพื่อเป็นตัวส่งเสริม ปลุกเร้า กระตุ้นเตือน ให้เกิดภาวะของการตื่นรู้ขึ้นมา เพื่อจะออกจากอารมณ์ได้ ...อันนี้สังเกตให้ดี บางครั้งถ้าเราทำไม่เป็น เราจะเอาใจนำ เวลาสร้างจังหวะ เอาใจไปสั่งให้กายยก ให้กายทำอย่างนั้น แทนที่จะรู้กาย แต่เอาใจเข้าไปทำ มันจะเกิดภาวะของการ เพ่ง ซึม ง่วง หรือบางครั้งทำไปมากเข้าๆ มันจะหลุดไปจะรู้สึกโล่ง สบาย แล้วเราก็จะอยากให้เป็นอย่างนี้อีก ก็จะมาเพ่งอีก จดจ่อ จดจ้อง เอาใจทำ
สังเกตดีๆ ให้เราทำเคลื่อนไหวให้เกิดก่อน แล้วค่อยรู้ตาม ระวังสับสนให้กายมันแสดงตัวก่อนแล้วเราค่อยรู้
บางทีเราสร้างจังหวะไปสร้างจังหวะมา เราเกิดการกระทำมากขึ้น จิตมันสั่งสั่งให้ทำ มันแทนที่จะนั่งดูเฉยๆว่ากายมันทำอะไรกลายเป็นยังไงการเคลื่อนไหวอย่างไร บางทีเราก็เข้าไปเล่นเข้าไปประคอง เข้าไปทำอะไรเยอะแยะ จนมันมึน จนมันซึม
วิธีแก้คือ ให้มารับรู้ 2 ส่วนนี้ ส่วนที่ มันเป็นมันเกิดขึ้นมาก่อนแล้วค่อยรู้ตาม กับที่เราทำขึ้นแล้วรู้เพื่อจะได้แบ่งความสมดุลกันไม่ให้มันจมไปกับการกระทำมากเกินไป หรือเราปล่อยให้มันรู้แบบธรรมชาติมันก็จะเตลิดเปิดเปิงจนหลงไปกับอารมณ์เกินไปเราต้องใช้ 2 ตัวนี้มาปรับทำด้วยและปล่อยให้รู้แบบธรรมชาติด้วยควบคู่กันไป เพื่อความชำนาญของตัวนี้จะได้รู้ลักษณะและจำทีละขณะ
อารมณ์ปัจจุบันอยู่ที่ฐานกาย แต่ถ้าเป็นฐานจิตส่วนใหญ่จะเป็นอารมณ์อดีตอนาคตซะส่วนใหญ่ยกเว้นตัวรู้ตัวเดียวที่อยู่ในปัจจุบัน นอกนั้นอารมณ์จะเป็นอดีตอนาคตทั้งหมด
ให้รู้ตามที่เขาเป็นบ่อยๆจำลักษณะสิ่งที่เกิดกับกายบ่อยๆ จำมันเฉยๆรู้มันเฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไร เพราะว่าฐานกายทั้งหมดฐานอายตนะตาหูจมูกลิ้นกายทั้งหมด ส่วนนี้เป็นส่วนของอารมณ์ปัจจุบันทั้งนั้น
ช่วงแรก : ตื่นออกมาให้ได้ สัมผัสสติแบบธรรมชาติให้เป็น
พาใจออก ให้ตื่นรู้ให้ได้ก่อน ให้จิตเค้าคุ้นชิน แบบธรรมชาติคือให้มีภาวะต่างๆ เกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ตาม แค่นั้นพอ อย่าเกินนี้
ทำให้ธาตุรู้กลายเป็นสติในการจำทีละขณะ ให้ได้ก่อน ให้จำสั้นๆ รู้สึกสั้นๆ รู้สึกกับสิ่งรอบๆตัวที่เกิดขึ้นสั้นๆ เราจะไม่รู้ยาว ที่ไม่ให้รู้ยาว
เพราะภาวะของอารมณ์ที่ เราต้องการให้เขารู้สั้น, เพื่อให้เขาได้สัมผัสกับอารมณ์ปัจจุบัน เพราะอารมณ์ปัจจุบันเป็นอารมณ์ที่สั้นๆเป็นขณะเดียวต่างจากอดีต อนาคตจะเป็นอารมณ์ที่ยาวในเรื่องราว
แต่ถ้าเป็นสติแบบทำขึ้น จะวนอยู่ในวังวน เดี๋ยวได้ดี เดี๋ยวโล่งโปร่งบ้าง วุ่นวายบ้าง ชัดเจนบ้าง เดี๋ยวไม่ชัดเจนบ้าง วนกันอย่างนี้ หรือกว่าจะชัดได้ก็พาให้เครียด พาให้เพ่ง ให้จ้อง มึนหัว
แต่ถ้าสติธรรมชาติเกิดขึ้น อายตนะจะเปิดขิ้นด้วย การรับรู้จะแผ่กว้างขึ้น ชัดเจนขึ้น ไกลขึ้น การสัมผัสทางกายจะเริ่มรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งหมด จะเข้าสู่ขบวนการของสัมปชัญญะ กระจายวงออกกว้างขึ้น เป็นตัวชี้ให้เราเห็นว่าเราเริ่มชัดเจนขึ้น
ช่วงที่ 2 : ฝึกตัวเองฝืนสัญชาติญาณในการตอบโต้
สติจะเริ่มรู้แบบมีอุเบกขามากขึ้น, พฤติกรรมในการตอบโต้กับอารมณ์จะเริ่มลดลง เพราะเริ่มเห็นการมาแล้วผ่านๆ ทำให้จิตเริ่มเห็นความไม่แน่นอนของอารมณ์ ที่เมื่อก่อนเราไม่รู้จัก ก็มีแต่จะเอาๆ หายไปแล้ว ก็จะสร้างขึ้น
... มันจะเกิดกระบวนการไหลผ่าน กระบวนการนี้แหละจะทำให้จิตเริ่มสัมผัสอารมณ์นิ่งขึ้น แต่กระบวนการนี้สิ่งที่ต้องระวังคือสัญชาตญาณ ในการตอบโต้นิสัยเดิม ตามความเคยชินเดิมของตัวเองที่มีอยู่
ตัวผืนที่ต้องระวังอยู่ 3 อย่างคือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม 3 สิ่งนี้จะเป็นตัวที่คอยกระตุ้นให้การตอบสนองของอารมณ์ต่างๆมีกำลังอย่างสม่ำเสมออยู่เรื่อยๆ ทำให้ไม่สามารถหยุดตัวเองได้ที่จะเป็นผู้รู้ ผู้ดูเฉยๆ
.. หยุดพฤติกรรมทะเลาะกับตัวเอง แต่ให้เปิดใจยอมรับกับตัวเองให้ได้
ขั้นนี้จะเริ่มลดวิธีการลง ลดอุบาย ลดลดเจตนาลง ปล่อยให้ธรรมขาติทำงาน เพียงแต่ ดู รู้ มันเฉยๆ สติตัวธรรมชาติจะทำงานได้มากขึ้น
ช่วงที่3 : เปิดใจในการเรียนรุ้
มันโกรธก็ปล่อยมันโกรธไป ปล่อยให้อารมณ์มันทำ แต่ใจไม่ได้ไปทำด้วย ตรงนี้เป็นขั้นตอนของปัญญา มันจะรู้ว่าแต่ละเรื่องที่มันเกิดขึ้นมา มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ด้วยการดูเฉยๆเนี่ยล่ะ มันจะเริ่มสาวหาเหตุของมัน เป็นกระบวนการล้างใจ, ความคิดประเภทที่ 3 จะทำงานได้ดีขึ้น จะตอบโจทย์ปัญหาชีวิตได้ดีขึ้น เช่น โกรธเกิดขึ้นมาได้ยังไง กลัวเกิดขึ้นได้ยังไง วิตกกังวลเกิดขึ้นได้ยังไง เราหลงเข้าไปในอารมณ์แบบไหน เป็นขบวนการของปัญญา ถึงจุดหนึ่งตัวธรรมชาติ ตัวรู้ธรรมชาติจะทำงานมากขึ้น ตัวรู้สึกตัวที่ทำขึ้นจะเริ่มลดลง จิตก็จะรับรู้เรื่องราว เรียนรู้ และก็เข้าใจ แค่นั่งดูเฉยๆ เริ่มโล่งๆ กลวงๆ ใจมันจะสบาย ไม่ค่อยยึดถืออะไร
ค่ายศิษย์พุทธยานันทภิกขุ 22 พ.ค.- 6 มิ.ย. 62
ธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์กระสินธุ์ อนุภัทโท
วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ณ เกาะช้าง
Create your
podcast in
minutes
It is Free