26 มิ.ย. 65 - ฝึกใจให้พร้อมเจอความไม่สงบ : พอเราพร้อมที่จะเจอกับความไม่สงบ หรืออารมณ์อกุศล อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนาในใจ ต่อไปเราจะมีความพร้อมในการเจอกับผัสสะ ที่เคยไม่พึงพอใจมาก่อน นั่นคือรูป รส กลิ่นเสียง แต่ก่อนเวลามีธรรมารมณ์ที่ไม่พึงพอใจเกิดขึ้น เราไม่ผลักไสมัน เรายอมรับมัน เราแค่รู้ซื่อๆ แต่ต่อไป ความสามารถในการรับมือกับสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ มันจะขยายออกไป จากธรรมารมณ์หรืออารมณ์ ความคิดในใจ ไปสู่สิ่งภายนอก เสียงที่ดัง ภาพที่ไม่น่าพึงพอใจอันนี้เรียกว่ารูป กลิ่นก็เหมือนกัน หรือว่าสัมผัส เช่นความเจ็บ ความปวด ที่ทำให้เกิดทุกขเวทนา เวลาเกิดความปวดขึ้นมา ก็อยู่กับความปวดได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ กายทุกข์ไปแต่ใจไม่ทุกข์ จำกัดทุกขเวทนาให้เป็นเรื่องของกาย แต่ว่าใจไม่ทุกข์ด้วย
นี่เพราะว่าเรารู้จักรับมือกับความไม่สงบที่เกิดขึ้นในใจ พอรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่น่าพึงพอใจเกิดขึ้น เราก็รับมือกับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ ถึงแม้ใจกระเพื่อม แต่ก็รู้ทัน แล้วก็วางมันลง วางทั้งอารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็วางทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ที่มากระทบ ต่อไปพอไปเจอเหตุการณ์ที่ร้ายๆ ที่ไม่พึงปรารถนา พลัดพรากจากของรักของพอใจ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ อย่างที่เราสวดทุกเช้า เราก็สามารถจะรับมือกับมันได้
เจอความเจ็บป่วย เจอความสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง ก็สามารถที่จะรับมือกับมันได้ เพราะเห็นว่ามันเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติที่มันห้ามไม่ได้ เรารู้จักที่จะรักษาใจ ไม่ให้เป็นทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมันก็เกิดขึ้นจากการที่เรารู้เคล็ดลับ ในการรับมือกับอารมณ์ที่เป็นความทุกข์ นั่นคือรู้ซื่อๆ หรือมีสติรู้ทัน หรือว่ารู้จักทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ เช่นที่มาปฏิบัติที่นี่ อย่าหวังแต่ว่าจะพบกับความสงบในใจ แต่ให้คิดต่อไปว่า เราต้องพร้อมที่จะเผชิญกับความไม่สงบ เมื่อมันผ่านเข้ามาในใจด้วย มันเกิดขึ้นก็ไม่โวยวายตีโพยตีพาย หรือว่าผลักไสมัน ยอมรับมัน อนุญาตให้มันเกิดขึ้น แต่ว่าไม่ปล่อยใจให้หลงเข้าไปในอารมณ์เหล่านั้น พูดง่ายๆ คือเห็น ไม่เข้าไปเป็น หรือว่าแค่รู้ซื่อๆ