บรรยายเมื่อ 28-05-2565
“ละนันทิ” คือ ละความเพลิดเพลินพอใจในสิ่งที่เป็นความสุขหรือความทุกข์
นึกออกมั้ยว่าความทุกข์ เราก็เพลิดเพลินได้นะ เวลาเราโกรธ เราก็มันส์เหมือนกันนะ...เลิกไม่ได้
เราเอาคำสอนว่า “ละนันทิ” “มาทำ” คือหมายความว่า เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น...เรารีบออกจากมัน หรือเมื่อความสุขเกิดขึ้น...เรารีบออกจากมัน ละมัน ไม่มีความเพลิดเพลินต่อมัน
คำถามผมคือว่า ทำไมเราทำแบบนั้น?
เพราะไอเดียมันบอกเราว่า ละนันทิได้ เราจะหลุดพ้น
ไอเดียที่ 2 บอกอีกว่า ก็คำสอนเขาบอกว่า ต้องละนันทิ ถึงจะถูก ถ้าเพลิดเพลินอยู่ มันก็ไม่ถูกสิ
เห็นไหมว่า ในไอเดียของเขาวงกต เราก็มีไอเดียเล็กๆ ย่อยๆ อยู่ในนั้นอีก ที่เราใช้ในการปฏิบัติธรรม
แล้วเราก็เชื่อว่าดี แล้วก็ถูกด้วย
เพราะฉะนั้น ในแง่นึงคือ การที่เราพยายามทำสิ่งที่ #ถูกและดี ภายใต้ไอเดียอย่างหนึ่งที่เรา #เชื่อ ตลอดเวลา
แต่อย่างที่ 2 คืออะไร?
เราไม่เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ
ท่านบอกว่า “เพราะเห็นตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่าย จึงคลายความเพลิดเพลิน เมื่อคลายความเพลิดเพลิน ก็คลายจากราคะ เมื่อคลายจากราคะและความเพลิดเพลิน จึงหลุดพ้น”
เห็นมั้ยว่า การละความเพลิดเพลินได้นั้น มันมีเหตุ แต่เรา "เอามันมาทำ!"
เหตุของมันคืออะไร? คือเห็นตามความเป็นจริง หรือที่ผมสอนว่าคือ #การแจ่มแจ้งในสิ่งนั้นๆ
เราค้นพบได้ไหมว่า ชีวิตที่แท้จริง ที่เป็นจริงนั้น คือ #ความแจ่มแจ้งในทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่นี้
ไม่ใช่การที่เราจะกลายเป็นอะไรที่ดีกว่า
ไม่ใช่การที่เรากำลังฝึกอะไรบางอย่าง เพื่อจะมีอะไรบางอย่าง เพื่อจะไปถึงอะไรบางอย่าง หรือฝึกอะไรบางอย่าง เพื่อจะไม่มีอะไรบางอย่าง จะได้รู้สึกดีกว่านี้
แต่เราใช้สติปัญญาทั้งหมด พละกำลังทั้งหมด ในแต่ละวันที่เราตื่นขึ้นมา ที่จะแจ่มแจ้ง กระจ่างชัดในสิ่งทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
ไม่ว่ามันจะเป็นความสุข หรือความทุกข์ ความอยาก ความต้องการ ความบีบคั้น ความไม่อยาก ความไม่ต้องการ กระจ่างชัดกับทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตเราได้ไหม
และอย่ามีคำถามถามว่า กระจ่างชัดลงไปในแต่ละขณะของชีวิต หรือเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต แล้วเราจะได้อะไร
นั่นคือลูป (Loop) ของความคิดเก่าๆ ที่เราเข้ามาปฏิบัติธรรม เราจะได้อะไร เราจะดีกว่านี้ใช่ไหม ถ้าทำแบบนี้
.
เราพยายามละความเพลิดเพลินพอใจในความสุขนั้น ด้วยความถูกต้องตามทฤษฎีที่เราเชื่อ เราใช้อะไร?
เราต้องใช้ความอดทนมาก ใช้เจตนางดเว้นมาก ใช้หัวใจที่มีความแบ่งแยกอย่างถึงที่สุด
และนั่นคือสิ่งที่เรานักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ทำกัน คือ #ใช้ความอดทนอย่างไม่มีปัญญา
ถ้าผมถามว่า เราติดรสชาติในความสุขนั้นเพราะอะไร? เราตอบได้ไหม?
เพราะเราไม่เข้าใจว่าความสุขคืออะไร
เราไม่เข้าใจว่า สิ่งที่เราเรียกว่าความสุขนั้นคืออะไร มันคืออะไรกันแน่ มันเป็นความสุขจริงไหม?
สิ่งที่เราเรียกว่าความสุข ที่เราติดอยู่ในรสชาติของความสุขนั้น มันประกอบด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง ที่พร้อมจะแปรปรวนไม่คงที่
แล้วเราใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะได้ความสุขจากผัสสะนั้นๆ ในการควบคุมองค์ประกอบหลายอย่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเราจึงจะได้รับความสุขจากสิ่งๆนั้นได้จริงๆ ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันคือความทุกข์อย่างมาก
เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้บอกว่า นักปฏิบัติธรรมไม่ควรมีความสุข เราทุกคนมีความสุขได้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า #เรากระจ่างชัดกับสิ่งต่างๆ หรือสิ่งที่เรียกว่าความสุขนี้ได้ไหม
เราได้รับผัสสะที่น่าพอใจ โดยไม่หลงกลมันได้ไหม?
"หนูรู้อยู่" นั่นเป็นเรื่องที่ตื้นเขินมาก ผมพูดถึงความกระจ่างชัดในสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้น เราชาวพุทธลึกซึ้งกับสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์มากๆ เราตื้นเขินกับสิ่งที่เรียกว่าความสุขมากๆเหมือนกัน
เวลาเราฟังคำว่า ละความเพลิดเพลินในความสุข แต่เหล่านักบวชนั่งสมาธิ ทำสมถกรรมฐาน มีความอิ่มเอิบในความสุขจากสมาธิ ทำไมถึงทำแบบนั้น?
เพราะความสุขนั้นเป็นส่วนประกอบหนึ่งในชีวิต พระพุทธเจ้าท่านถึงได้สอนว่า ต้องทำสมถกรรมฐานด้วย แต่ปัญหาคือผู้ฟังคำสอนเอามาทำตามนั้น ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งกับคำสอนต่างๆ ที่ท่านสอน
การนั่งสมาธิก็เพียงเพื่อจะได้รับความสุขในแบบที่ชาวโลกหาความสุขกัน โดยที่ไม่มีความกระจ่างชัด ในความเป็นอยู่ของสมาธินั้นๆ
ไม่มีความกระจ่างชัดในความอยากได้ความสุขจากสมาธิ จึงเกิดเรื่องราวต่างๆ ในเขาวงกตที่ผมบอกคือ การติดสมาธิ คือการไม่ชอบความฟุ้งซ่าน แล้วก็อยากจะมาทำความสงบ
เพราะฉะนั้น เนื้อหาต่างๆ ในคำสอนต่างๆ ถ้าเราไม่กระจ่างชัด ว่าอะไรคือชีวิตที่แท้จริง เราจะหลงทางอยู่ในคำสอนเหล่านั้น
มันเหมือนๆ แต่มันไม่ใช่ พูดคล้ายๆกัน แต่มันไม่ใช่
ถ้าเราพลาดหัวใจของความมีชีวิตที่แท้จริง เราพลาดทั้งหมด ให้มันเหมือนแค่ไหนก็ตาม เราก็พลาด
#Camouflage
28-05-2565
Create your
podcast in
minutes
It is Free